มะขามแขก (Senna alexandrina P. Miller) เป็นสมุนไพรไทยที่ใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูกกันมาอย่างยาวนาน โดยนำใบแห้งหรือฝักแห้งมาต้มเพื่อรับประทาน มีทั้งที่ใช้ในรูปแบบสมุนไพรเดี่ยวและผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น นอกจากนั้นมะขามแขกยังได้รับการพัฒนาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน (ยาเม็ด) หรือยาพัฒนาจากสมุนไพร (ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาชง) อีกด้วย1 โดยยาเหล่านี้มีการควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์หลัก (sennoside A และ sennoside B) ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม2

การออกฤทธิ์ช่วยระบายของมะขามแขก

มะขามแขกมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ sennoside A และ sennoside B ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนให้มีฤทธิ์ระบายด้วยการทำงานของเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จากนั้นจึงออกฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้เกิดการการบีบตัว รวมทั้งยับยั้งการดูดน้ำกลับที่บริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขับถ่าย3,4

ขนาดและวิธีการยาระบายมะขามแขก

ปริมาณของสาร sennosides ที่แนะนำสำหรับบรรเทาอาการท้องผูก คือ 17.2-30 มิลลิกรัมต่อวัน โดยขนาดสูงสุดที่รับประทานได้ คือ 68.8 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับยาระบายมะขามแขกในรูปแบบเม็ดและแคปซูล แนะนำให้รับประทาน 2-4 เม็ด ก่อนนอน ส่วนในรูปแบบยาชง แนะนำให้รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร ก่อนนอน5

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาระบายมะขามแขก

อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบ ได้แก่ ปวดเกร็งท้อง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ข้อควรระวังที่สำคัญ

ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ท้องเสียจนเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป รวมทั้งยังทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา ส่งผลให้ไม่สามารถขับถ่ายได้ถ้าไม่ใช้ยาถ่าย7
หยุดใช้เมื่อมีเลือดออกจากทวารหนัก7
ควรระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease)7
การรับประทานยาในขนาดสูงอาจทำให้เกิดไตอักเสบ7
ห้ามใช้ยาระบายมะขามแขกในผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน (gastrointestinal obstruction) หรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ1

บทสรุป

มะขามแขกเป็นสมุนไพรไทยที่มีการพัฒนาให้อยู่ในรูปยาแผนปัจจุบันหรือยาพัฒนาจากสมุนไพรซึ่งถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก มีผลทำให้การถ่ายอุจจาระคล่องขึ้นและถ่ายเป็นเนื้อกึ่งเหลว อีกทั้งเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้มะขามแขกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา และไม่สามารถขับถ่ายได้ถ้าไม่ใช้ยาถ่าย